ทุ่งศรีเมือง และในเขตเทศบาลนครอุบล จังหวัดอุบลราชธานี Thung Si Mueang and in the Ubon Municipality, Ubon Ratchathani
งานเทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี “อนุรักษ์เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น”
วันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2563 ณ ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการจัดทำต้นเทียนและจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2470 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 119 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) คณะกรรมการจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีมีมติงดจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2563 ประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีเรียกร้องให้จัดงานดังกล่าวขึ้น และเพื่อให้มีการรักษาประเพณีแห่เทียนพรรษาไว้ให้คงอยู่จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้กำหนดจัดงาน “อนุรักษ์เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น” โดยจังหวัดอุบลราชธานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เทศบาลนครอุบลราชธานี กำหนดจัดงานวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00-22.00 น. ณ ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ภายในงานมีกิจกรรมดังนี้
- โซนการจัดแสดงแสงเสียงเทียนพรรษา ประกอบด้วย เทียนพระราชทาน ต้นเทียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีที่ผ่านมา รวมจำนวน 5 ต้น ได้แก่ ประเภทแกะสลัก/ ติดพิมพ์ ขนาดใหญ่-กลาง จากวัดผาสุการาม ,วัดเลียบ ,วัดพลแพน, วัดมหาวนาราม โดยมีการจัดแสดงผสมผสานแสง เสียงและคำบรรยาย เพื่อสร้างความน่าสนใจ
- โซนนิทรรศการหลวงปู่มั่นและพุทธศาสนา แสดงถึงนิทรรศการเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของหลวงปู่มั่นครบรอบ 150 ปีชาตกาล ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาสันติภาพ และนิทรรศการพุทธประวัติ
- โซนการจัดแสดงภาพถ่ายขบวนแห่เทียนพรรษาที่ได้รับรางวัลจากชมรมถ่ายภาพจังหวัดอุบลราชธานี
- โซนถนนสายเทียน มีกิจกรรม การหล่อเทียน ทำดอกผึ้ง การติดพิมพ์ และแกะสลักเทียน
- โซนต้นเทียนจำลองแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอต่างๆ 10 อำเภอ
- โซนการแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงทางวัฒนธรรม ดนตรีพื้นเมือง หมอลำ ลูกทุ่ง และการแสดงร่วมสมัย
- โซนของดีเมืองอุบล การนำเสนอสินค้าจากชุมชนเพื่อมาสาธิตและจำหน่ายในงาน
- การเปิดคุ้มวัดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมต้นเทียนในชุมชนรวมทั้งตลาดจำหน่ายสินค้าชุมชนให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเที่ยวชมรอบเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
เพื่อสร้างความมั่นใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)ตามมาตรการทางสาธารณสุขและ SHA อย่างเข้มข้น เป็นต้นแบบการจัดงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณีในรูปแบบ New Normal
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงจัดทำระบบ Live Map เพื่อควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยการลงทะเบียนล่วงหน้าหรือแจ้งความประสงค์ก่อนเข้างาน สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ ครั้งละไม่เกิน 2,000 คน โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2563 ที่ www.thailandfestival.org/งานเทียนพรรษาอุบลราชธานี2563
ลือเลื่อง และเล่าขาน ประติมากรรมแกะสลักเทียน…
ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวพุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่พุทธกาลจนปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชาและสังฆบูชา และมีความเชื่อกันว่าการทำบุญเข้าพรรษาโดยการถวายเทียนก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ทำให้เป็นผู้เฉลียวฉลาด หลักแหลม มีไหวพริบ สติปัญญา
![]() |
จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดทำต้นเทียนและแห่เทียนเข้าพรรษา มีขบวนแห่ มีการฟ้อนรำ หลังจากแห่ไปรอบเมืองแล้ว จะนำต้นเทียนไปถวายวัดที่เป็นวัดประจำคุ้ม จนถึงปัจจุบันงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 119 ปี นับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่และได้สร้างชื่อเสียงให้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทย และในโอกาสสำคัญที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉลองครบรอบ 60 ปี ททท. จึงได้สร้างสรรค์ประติมากรรมแกะสลักเทียน “ช้าง” จำนวน 5 เชือก เพื่อสืบทอดและเผยแพร่ ศิลปะ วัฒนธรรม งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นที่ลือเลื่อง และเล่าขาน
“ช้าง” ถือเป็นสัตว์มงคลคู่บ้านคู่เมือง ที่มีตำนานคู่ผืนแผ่นดินไทยมานับแต่โบราณ ช้างมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยและวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนยังผูกพันอยู่กับช้างเกือบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา พระมหากษัตริย์ เกษตรกรรม ช้างจึงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความเป็นสิริมงคลในชีวิต
การทำประติมากรรมแกะสลักเทียน “ช้าง” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศิลปินด้านแกะสลักเทียน นายช่างวิเชียร ภาดี และ นายช่างวิศรุต ภาดี มาถ่ายทอดภูมิปัญญาที่สืบสานกันมาจากรุ่นสู่รุ่น กับเทคนิค การ “แกะสลัก” และ “ปั้นเป็นภาพนูนต่ำ” ด้วยการหยิบยกนำเอาเรื่องราวการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานีมาบอกเล่า และถ่ายทอด “ลงบนตัวช้าง” เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งจากบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสัญลักษณ์เจดีย์พระโพธิญาณเถร วัดหนองป่าพง ออกมาได้อย่างงดงาม และประณีต โดยจัดแสดงภายในงานอนุรักษ์เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น ภายใต้การตกแต่งประดับดอกไม้ และบรรยากาศของแสงไฟรายล้อม ที่เมื่อกระทบกับประติมากรรมแกะสลักเทียน “ช้าง” ที่ตั้งตระหง่านยิ่งทวีความงดงามละลานตา…